คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเริมนี้มาก่อน แต่น่าแปลกที่คนพูดถึงกันน้อยในขณะที่มีคนเป็นโรคนี้กันมาก บางคนอาจกำลังสงสัยว่าติดโรคนี้เข้าให้แล้วหรือเปล่า มีคนนับล้านที่เคยมีอาการของโรคนี้มาก่อน และเกิดความรู้สึกผิดหรือวิตกว่าโรคเริมจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ แต่ประคองโรคได้และใช้วิธีป้องกันก็จะไม่กลับมากำเริบซ้ำอีกเลย
โรคเริมไม่ใช่เรื่องใหม่ โรคใหม่เพราะพบว่ามีการบันทึกถึงโรคนี้มาตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ สมัยจักรพรรดิทิเบอเรียสเคยให้ออกกฎหมายห้ามการจูบกันในที่สาธารณะ เพื่อพยายามป้องกันการแพร่กระจายของโรคเริมบริเวณริมฝีปาก
แต่ในปัจจุบันทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ช่างตรงกันข้ามกับในอดีตเสียเหลือเกิน ทำให้การติดเชื้อเริมสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้คงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเริมบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์พุ่งขึ้น จนเป็นหนึ่งในโรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบัน

ทุกคนมีส่วนช่วยลดโอกาสของการกระจายของโรคเริมได้ หากว่าเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คนอื่น
เริม คืออะไร
เริมเป็นเชื้อไวรัสที่มีขนาดเล็กมาก มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวตลอดชีวิตของมันคือการเพิ่มจำนวน มันจะทำงานโดยหลอกล่อให้เซลล์ของร่างกายสร้างไวรัสจำนวนมากขึ้นมา ซึ่งเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปยังเซลล์ข้างเคียงได้ หากกระบวนการนี้ดำเนินไปโดยไม่ถูกตรวจพบ ไวรัสเริมก็จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย แต่อย่างไรโชคยังเข้าข้างมนุษย์ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคอยต่อสู้กับผู้รุกรานด้วยกองทัพเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสเริมได้บ้าง
ความสุขสันต์หฤหรรษของปฏิบัติการรักจึงต้องระวังเป็นพิเศษสังเกตคู่ของคุณดูด้วยว่า บริเวณริมฝีปากและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ มีแผลหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นแผลเริม เพราะเป็นสองบริเวณที่พบเชื้อได้บ่อยและมากที่สุด ที่พบมากในผู้ชาย คือ บริเวณองคชาติ อัณฑะ หรือก้น ส่วนในผู้หญิง มักเป็นบริเวณปากช่องคลอดภายนอกหรืออาจเป็นภายในช่องคลอดก็ได้
โดยเจ้าเชื้อไวรัสนี้สามารถเคลื่อนผ่านรอยแตกเล็กๆ บริเวณผิวหนัง หรือเยื่อบุผิวที่ชุ่มชื้นบริเวณริมฝีปาก ช่องคลอด หรือทวารหนักได้ และแผลเหล่านั้นถ้าดูแลไม่ดีพอก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าให้อีก อย่างไรก็ตามถ้ามีการติดเชื้อเริมจากคู่ของคุณ ก็จงอย่าโทษใคร ไม่ว่าตัวคุณเองหรือคนอื่น แต่ควรรีบไปรักษาดีกว่าอย่าเสียเวลาโทษกันไปมา
อย่างที่บอกแล้วว่าหน้าที่ของเริมคือเกิดมาเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ ดังนั้นหากว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เชื้อเริมก็สามารถกระจายไปที่นิ้วหรือบริเวณใกล้เคียงได้ กระทั่งที่ตา สมองก็อาจพบได้แม้จะน้อยก็ตามที การโจมตีของเชื้อเริมจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือไม่สบายเป็นโรคอื่นๆ ที่ทำให้กองทัพเม็ดเลือดขาวอ่อนล้าจากการต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดอื่น เช่น เมื่อเป็นหวัด หรือเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด โภชนาการไม่ดีพอ การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือภาวะเครียดทางอารมณ์
แต่หากว่าระบบภูมิคุ้มกันเข้มแข็งได้รับการรักษาและดูแลแผลจากเริมอย่างดี ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยเป็นเริมซ้ำอีกเลย หรือแม้จะเป็นซ้ำก็จะเพียงนานๆ ครั้ง อาจทิ้งระยะห่างแต่ละครั้งนาน 3-12 เ ดือน
หากว่าสงสัยว่าตัวเรานั้นติดเชื้อนี้เข้าบ้างไหมเพราะมีปัจจัยเสี่ยงครบครัน เช่น คู่ของคุณมีแผลบริเวณดังกล่าว หรือการไม่ได้สวมถุงยางอนามัย หรือมีอาการเริ่มแรก เช่น คันจี๊ดๆ ปวด หรือรู้สึกเพลีย พบว่ามีการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบหรือคอร่วมด้วย ก็สมควรจะได้รับการตรวจจากแพทย์
วิธีการตรวจนั้นมีหลายแบบ หรืออาจใช้หลายวีธีร่วมกัน เช่น ตรวจเลือด ตรวจเนื้อเยื่อและทำการเพาะเชื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
โรคเริมสามารถควบคุมและรักษาได้
สุขอนามัยที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อคุณมีอาการของโรคเริม การดูแลแผลเริมอย่างถูกวิธีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น (แผลเริมมักจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์) และลดโอกาสการแพร่กระจายไปถึงผู้อื่น ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยลดระยะเวลาการเป็นแผลเริมได้หลายวัน ถ้าหากได้ใช้ยาแต่เนิ่นๆ เมื่อเพิ่งเริ่มมีอาการ
เคล็ดลับน่ารู้ในการดูแลและควบคุมโรคเริม
- ไวรัสเริมเกลียดความแห้ง อย่าใช้สิ่งใดๆ ไปปิดหรือพันบริเวณแผลเริม ความแห้งและอากาศที่ถ่ายเทได้ดีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- ทำความสะอาดแผลเริมด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดก็เพียงพอแล้ว
- การใช้ไดร์เป่าผมความร้อนต่ำเป่าบริเวณแผลจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- ห้ามแกะสะเก็ดแผลเริม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับแต่หลวมสบายอากาศถ่ายเทสะดวก การใส่ชุดชั้นในที่เป็นไนลอนจะทำให้อับชื้นง่าย
- พยายามซับและดูแลแผลให้แห้งตลอดเวลา อย่าใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
- ถ้าปวดแผลให้ใช้ยาระงับปวดทั่วไป
- หากมีแผลบริเวณปากช่องคลอด จะปวดแสบแผลเวลาปัสสาวะได้ การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่นจะบรรเทาปวดแสบได้ผล
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าไม่ระวัง
- มารดาที่ติดเชื้อเริมอาจถ่ายทอดเชื้อเริมสู่ลูกในครรภ์ได้ แต่หากตรวจพบและรักษาเนิ่นๆ ก็จะหายดีได้ไม่ยาก และควรคลอดทารกด้วยวิธีผ่าตัดเท่านั้น เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อบริเวณปากช่องคลอด
- เยื่อบุตาอักเสบจากเริม การติดเชื้อเริมอาจกระจายไปถึงบริเวณตาด้วยนิ้วที่เพิ่งสัมผัสถูกแผลเริม มันอาจกระจายไปตามเส้นประสาทบริเวณหน้าผ่านจากบริเวณปากไปถึงตา อาการที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ อาการปวด มีหนองหรือน้ำตามากบริเวณเปลือกตา และตาแดง หากไม่ได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ทันท่วงที ก็อาจเกิดเป็นแผลเป็นของกระจกตาหรือถึงขนาดตาบอดได้ การใช้ยาต้านไวรัสรักษามักได้ผลดี
- การอักเสบของสมอง เยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลังจากเริม ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา หรือดูแลตัวเองไม่ดี มีโอกาสที่เชื้อจะกระจายได้ บางครั้งอาจลามไปถึงสมองได้ ภาวะสมองบวมจากการอักเสบอาจทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจเป็นอัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้ โชคยังดีที่ปัญหารุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมาก โดยมักเป็นกับทารกหรือผู้ป่วยความเสี่ยงสูงซึ่งต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน
- มะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าไวรัสเริมอาจสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ปัจจัยต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นมีมากมาย ดังนั้นการที่ผู้หญิงคนหนึ่งเคยเป็นเริม ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก เพียงแต่ความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกในคนที่เคยเป็นเริมจะสูงกว่าคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความสำคัญจึงอยู่ที่การตรวจภายในเพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกโดย Pap smear เป็นประจำทุกปี
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันเริม
- เลี่ยงการจูบหรือเพศสัมพันธ์ในขณะที่แผลกำลังหาย
- เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เวลาที่เกิดแผลเริมขึ้นมา
- ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะเชื้อเริมยังแพร่เชื้อได้แม้จะไม่มีแผลให้เห็นก็ตาม
- พยายามลดความเครียดหรืองานที่หนักเกินไป เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ภูมิต้านทานการติดเชื้อของร่างกายลดลงได้
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today