โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานจะต้องการพลังงานอาหารวันละ 20-45 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน (เป็นกิโลกรัม) พลังงานนี้ควรได้จากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-60 โปรตีนร้อยละ 15-20 และไขมันร้อยละไม่เกิน 30 ของพลังงานทั้งหมด โดยให้มีโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม (โคเลสเตอรอลมีมากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก และหอยนางรม) และมีใยอาหารวันละประมาณ 20-35 กรัม อาหารควรแบ่งให้ 3 มื้อ ในจำนวนใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยชนิดพึ่งอินสุลินควรมีอาหารว่างมื้อบ่าย และบางคนต้องการมื้อว่างก่อนนอนด้วย อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรงด ได้แก่ อาหารน้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำปลาหวาน สำหรับเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ โอวัลติน ถ้าต้องการรสหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาล ที่ใช้ได้ในเบาหวานนี้มี 2 ชนิด คือพวก Aspartame ที่มีขายชื่อ อีควลและไดเอ็ต อีกชนิดหนึ่งคือขัณฑสกร (Saccharin) น้ำตาลเทียมจะให้รสหวาน โดยให้พลังงานน้อย และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยง เพราะให้พลังงานสูง (แอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี่) บางชนิดมีน้ำตาลสูง เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าหวาน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานอยู่ ผลไม้กินได้ในปริมาณจำกัด เนื่องจากมีน้ำตาล หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่นทุเรียน น้อยหน่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรงดผลไม้ เนื่องจากผลไม้มีวิตามิน และใยอาหารสูง อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานกินได้ไม่จำกัด และควรกินให้มากคือผักใบเขียวทุกชนิด ซึ่งให้พลังงานต่ำ มีใยอาหารสูง แต่มีข้อควรระวังคือ อันตรายจากยาปราบศัตรูพืชที่อาจตกค้างอยู่ ควรล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง 2. การออกกำลังกายการออกกำลังกายสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง การทำงานของหัวใจดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนักเมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร ลดความเครียด และในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยทำให้ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน การออกกำลังกายอาจใช้การเดิน จ๊อกกิ้ง วิ่ง ขึ้นลงบันได ถีบจักรยาน กายบริหาร รำมวยจีน เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ป่วยควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย ควรทำสม่ำเสมอ ติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 15 - 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งอย่างน้อย ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรเริ่มทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่ม ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยเบาหวาน
3. การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานแก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานทุกคนและญาติ ควรมีความรู้ในการปฏิบัติตน และดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ควรให้ความร่วมมือกับแพทย์สม่ำเสมอจะให้ผลดีในการรักษาเบาหวาน 4. การใช้ยาจะใช้ยาต่อเมื่อการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไม่ได้ผล ยาที่ใช้มีทั้งยาเม็ด และยาฉีด คือ อินซูลิน ยาเม็ดรับประทาน แบ่งเป็นก. กลุ่ม Sulfonylureas มีหลายชนิดออกฤทธิ์ โดยกระตุ้นอินซูลินจากตับอ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน ข. กลุ่ม Biguanides ที่ใช้ในเมืองไทย คือ Metformin ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นอินซูลิน มักใช้ในคนอ้วน และใช้ร่วมกับกลุ่ม Sulfonylureas พบอาการข้างเคียงได้บ่อย เช่นคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ค. Acarbose เป็นยาที่ช่วยลดการดูดซึมของอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น มักใช้ร่วมกับยา ในข้อ ก. พบอาการข้างเคียงบ่อยมากเช่น ท้องอืด มีลมมาก ผายลมบ่อย และท้องเสีย ยาเม็ดรับประทานทั้งหมดนี้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ อินซูลินต้องใช้ฉีดเท่านั้น เนื่องจากอินซูลินถูกทำลายโดยน้ำย่อยในกะเพาะอาหาร ได้มีผู้พยายามค้นคว้าหาวิธีการให้อินซูลินด้วย วิธีอื่นเช่น พ่นทางจมูก และกินทางปาก พบว่าให้ผลไม่ดีนัก และยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ อินซูลินมีทั้งที่ได้จากสัตว์ คือ หมู และวัว (pork & beef insulin) และอินซูลินที่มีโครงสร้างเหมือนของคน (Human insulin) ปัจจุบันนิยมใช้อินซูลินที่เหมือนของคนมากกว่า อินซูลินยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์คือ
ความเข้มข้นของอินซูลิน = 100 ยูนิตต่อ 1 มิลลิลิตรบรรจุมาในขวด 10 มิลลิลิตร หรือหลอด 1.5 และ 3 มิลลิลิตร สำหรับใช้ฉีดจากปากกา ควรเก็บอินซูลินไว้ในตู้เย็นนอกช่องแช่แข็ง เนื่องจากอินซูลินมีฤทธิ์อยู่ได้ไม่นานจึงต้องใช้ฉีดทุกวัน จะฉีดบ้าง หยุดบ้างไม่ได้ ผู้ป่วยบางคนต้องฉีดถึงวันละหลายครั้ง การฉีดอินซูลินอาจใช้กระบอกยาฉีด หรือใช้ฉีดจากปากกา ข้อดีของปากกาคือ ไม่ต้องดูดยาเอง และพกพาได้สะดวก ควรเปลี่ยนที่ฉีดอินซูลินทุกวัน ไม่ควรฉีดซ้ำๆ ที่เดิมจะทำให้การดูดซึมยาไม่ดีเท่าที่ควร และมีปฏิกิริยาที่ผิวหนังได้ หน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพกเป็นที่สำหรับฉีดอินซูลิน พบว่ายาดูดซึมได้ดีที่สุดทางหน้าท้อง (และเจ็บน้อยกว่าด้วย) เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จึงต้องมีการพยายามค้นคว้าวิจัยต่อไป เพื่อหาวิธีการและตัวยาใหม่ๆ ที่ดีกว่า รวมทั้งการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งคือตับอ่อน และเซลล์ที่สร้างอินซูลินจากตับอ่อน ในอนาคตเราคงมีวิธีรักษาเบาหวานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน การติดตามผลการรักษาผู้ป่วยเบาหวานควรติดตามดูผลการควบคุมน้ำตาลว่าได้ผลดีเพียงใด โดยอาจใช้การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจปริมาณฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C เป็น Glycosylated hemoglobin) และ ฟรุคโตซามีน (Fructo samin เป็น Glycosylated protein) และการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ
โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานได้แก่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และโรคแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิต) มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมากและควบคุมน้ำตาลไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องใช้อินซูลินแล้วขาดยา อาจเกิดในคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวานก็ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจหอบ ซึม เลอะเลือน และหมดสติในที่สุด ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้บ่อยและอาจรุนแรงจนเสียชีวิต เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากิน หรือ ยาฉีดสาเหตุจากการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป จะมีอาการ หิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ชาตามปาก อ่อนเพลีย หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตัวเย็น สับสน (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบหมดทุกอย่าง) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับจะฝันร้าย และปวดศีรษะในตอนเช้า อาการน้ำตาลต่ำนี้อาจเป็นอยู่นานหลายวันขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ วิธีรักษา เมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 1/2 แก้ว หรือกินน้ำตาล อมลูกกวาด จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพราะอาจต้องปรับยาที่ใช้อยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันได้โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา กินอาหารเพิ่มก่อนการออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ กินของว่างหรือดื่มนมรองท้องไปก่อนถ้าต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป โรคแทรกซ้อนเรื้อรังพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหลายปี และควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงอยู่นานๆ นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเป็นอันตรายแอบแฝง กว่าจะรู้ตัวเมื่อเกิดอาการก็สายเกินไป ยากจะรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยต้องการพิการ หรือเสียชีวิต สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่ารักษาพยาบาลเป็นอันมาก ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้ตระหนักถึงอันตรายแอบแฝงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การดูแลตนเองที่ดี และการปฏิบัติตัวถูกต้องเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้ ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
|
|